วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

9.การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทย
          ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ แบ่งการบริหารราชการออกเป็น ๓ ส่วน คือ
         ๑. การบริหารราชการส่วนกลาง ใช้หลักการรวมอำนาจ คือให้อำนาจการบังคับบัญชาและการวินิจฉัยสั่งการขั้นสูงสุดอยู่ในส่วนกลาง โดยแบ่งหน่วยงานออกเป็น กระทรวง ทบวง กรม [รวมทั้งหน่วยงานที่มีชื่อเรียกอย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรม เช่น สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ราชบัณฑิตยสถาน ฯลฯ] หน่วยงานเหล่านี้ปรกติจะตั้งอยู่ในส่วนกลาง คือกรุงเทพมหานครอันเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล
          ปัจจุบันการบริหารราชการส่วนกลาง มีดังนี้
  ระดับกระทรวง มี ๑๔ กระทรวง (รวมสำนักนายกรัฐมนตรี)
  ระดับทบวง  มี ๑ ทบวง
  ระดับกรม  มี ๑๓๖ กรม (ไม่รวมกรมต่าง ๆ ในกระทรวงกลาโหม และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มีฐานะเทียบเท่ากรม)

          ๒. การบริหารราชการส่วนภูมิภาค ใช้หลักการแบ่งอำนาจ คือราชการส่วนกลางเป็นเจ้าของอำนาจ แล้วแบ่งอำนาจการบังคับบัญชาและการวินิจฉัยสั่งการให้แก่ภูมิภาคนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน เป็นการลดขั้นตอนต่าง ๆ ลง และการปฏิบัติของภูมิภาคนั้นจะต้องให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้จะต้องไม่ขัดต่อนโยบายของส่วนกลางหรือของรัฐบาลหรือตัวบทกฎหมายของประเทศ
          อนึ่ง อำนาจที่แบ่งให้นั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความพอใจของส่วนกลาง และส่วนกลางแต่ละหน่วยก็แบ่งให้อาจไม่เท่ากัน เช่น บางกรมแบ่งการบริหารงานบุคคลให้ส่วนภูมิภาคแต่งตั้งโยกย้ายได้ตั้งแต่ระดับ ๔ ลงมา บางกรมให้ตั้งแต่ระดับ ๖ ลงมา บางกรมให้ตั้งแต่ระดับ ๗ ลงมา
          อำนาจที่แบ่งให้ไปนั้น ราชการบริหารส่วนกลางอาจจะเรียกกลับคืนเมื่อใดก็ได้
          การบริหารราชการส่วนภูมิภาค มี ๕ ระดับ คือ

          ๑. จังหวัด
          ๒. อำเภอ
          ๓. กิ่งอำเภอ
          ๔. ตำบล
          ๕. หมู่บ้าน

          กิ่งอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาคโดยอนุโลม ทั้งนี้ก็เพราะในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินได้กำหนดการบริหารส่วนภูมิภาคไว้เพียง ๒ ระดับ คือจังหวัดและอำเภอ แล้วได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๘ อีกว่า "การปกครองอำเภอ นอกจากที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการปกครองท้องที่"
          กฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ในปัจจุบันจัดการบริหารราชการแผ่นดินในระดับรองลงมาจากอำเภอ ได้แก่ กิ่งอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จึงจัดเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาคด้วย
          จังหวัด    มี    ๗๕      จังหวัด
          อำเภอ      มี    ๗๒๙     อำเภอ
          กิ่งอำเภอ  มี    ๘๑        กิ่งอำเภอ
          ตำบล       มี    ๗,๑๕๙  ตำบล
          หมู่บ้าน    มี   ๖๕,๑๗๐ หมู่บ้าน
          (ข้อมูลประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๗)

          ๓. การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ใช้หลักการกระจายอำนาจ คือส่วนกลางได้โอนมอบอำนาจระดับหนึ่งไปให้ประชาชนในท้องถิ่นไปดำเนินการปกครองตนเองอย่างอิสระ แต่ทั้งนี้จะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายของประเทศหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน กิจกรรมที่ท้องถิ่นทำได้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการพัฒนา และที่ว่า "ปกครองตนเองอย่างอิสระ" นั้น หมายถึงมีอิสระในการตัดสินใจต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาหรือการเสริมสร้างสนับสนุนกิจกรรมของท้องถิ่น เช่น ออกข้อบังคับหรือระเบียบต่าง ๆ มาบังคับประชาชนในเขตการปกครองของตนได้ โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย
          การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในปัจจุบันมีรูปแบบดังนี้
          ๑. องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อย่าสับสนกับจังหวัด)
          ๒. เทศบาล
          ๓. สุขาภิบาล
          ๔. ราชการบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งได้แก่

                    ๔.๑ กรุงเทพมหานคร ซึ่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร บัญญัติไว้ในมาตรา ๖ ว่า "ให้กรุงเทพมหานครเป็นนิติบุคคล และเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น..."  ดังนั้นกรุงเทพฯ จึงไม่ใช้ "จังหวัด" ในความหมายของการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
                    ๔.๒ เมืองพัทยา ซึ่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารเมืองพัทยา บัญญัติไว้ในมาตรา ๗ ว่า "...ให้เมืองพัทยาเป็นนิติบุคคล และเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น..." ดังนั้นเมืองพัทยาจึงมิใช่เทศบาล มิใช่สุขาภิบาล แต่เป็นราชการส่วนท้องถิ่นตามที่กฎหมายกำหนด
                    ๔.๓ องค์การบริหารส่วนตำบล ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ใหม่) ได้กำหนดให้สภาตำบลที่มีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ ๑๕๐,๐๐๐ บาท โดยไม่รวมเงินอุดหนุนจากส่วนกลาง ติดต่อกัน ๓ ปี ให้ยกฐานะขึ้นเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล และให้องค์การบริหารส่วนตำบลมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น
          ดังนั้น องค์การบริหารส่วนตำบล จึงเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ตามที่กฎหมายสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลกำหนด อย่างสับสนกับ "ตำบล" ที่เป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาค
          ราชการบริหารส่วนท้องถิ่นในปัจจุบันที่เป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัดมี ๗๕ เทศบาล ๑๓๘ สุขาภิบาล ๑,๐๗๕ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา อย่างละ ๑ แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบลยังไม่จัดตั้ง

8.ศาลยุติธรรมไทย

ศาลยุติธรรม (ประเทศไทย)
ศาลยุติธรรม (The Court of Justice) เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น
ศาลยุติธรรมมี 3 ชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เว้นแต่ที่มีบัญญัติเป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญหรือตามกฎหมายอื่น
  • ศาลชั้นต้น ได้แก่ ศาลแพ่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี ศาลจังหวัด  ศาลแขวง และศาลยุติธรรมอื่นที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดให้เป็นศาลชั้นต้น เช่น ศาลเยาวชนและครอบครัว  ศาลแรงงาน  ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ  ศาลล้มละลาย
  • ศาลอุทธรณ์ ได้แก่ ศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค
  • ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลยุติธรรมสูงสุด ที่มีอยู่เพียงศาลเดียว
สำนักงานศาลยุติธรรม
สำนักงานศาลยุติธรรม เป็นองค์กรอิสระที่ดูแลงานธุรการของศาลยุติธรรม มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีอิสระในการบริหารงานบุคคลการงบประมาณและการดำเนินการอื่น ตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลฎีกา
การแต่งตั้งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม

ศาลยุติธรรมไทย
ศาลยุติธรรม (The Court of Justice) เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น

มีความเป็นมา
ศาลยุติธรรมมีความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยมีการปกครองแบบพ่อปกครองลูกโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเป็นผู้ทรงพระราชอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีความให้แก่ราษฎรโดยยึดหลัก "คัมภีรพระธรรมศาสตร" ของอินเดีย ต่อมาเมื่อพระองค์มีราชกิจมากขึ้นไม่สามารถวินิจฉัยชี้ขาดคดีความด้วยพระองค์เองได้จึงทรงมอบพระราชอำนาจนี้ให้แก่พราหมณ์ปุโรหิตผู้มีความรู้ช่วยวินิจฉัยคดีต่าง ๆ แทนพระองค์ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬา ได้โปรดฯให้มีการตรวจชำระกฎหมายที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาโดยนำมาปรับปรุงและบัญญัติขึ้นใหม่เรียกว่า "กฎหมายตราสามดวง"ศาลในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีอยู่มากมายหลายศาลกระจายกันอยู่ตามกระทรวงกรมต่าง ๆและมีหน้าที่ พิจารณาพิพากษาคดีต่างพระเนตรพระกรรณแทนพระมหากษัตริย์
ต่อมาเมื่อบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น มีการติดต่อกับชาวต่างชาติ ลัทธิชาวตะวันตกได้แผ่ขยายเข้ามาทำให้ระบบการศาลไทยมีการเปลี่ยนแปลงมิฉะนั้นอาจเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับชาติตะวันตกได้ จึงมีการปฏิรูประบบการศาลไทยขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีบทบาทในการวางรากฐานระบบการศาลยุติธรรม โดยได้รวมศาลที่กระจัดกระจายอยู่ตามกระทรวงกรมต่าง ๆ ให้มารวมไว้ในที่แห่งเดียวกัน เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีดำเนินไปด้วย ความรวดเร็ว ถูกต้อง เหมาะสมไม่ทำให้ราษฎรเดือดร้อน และในโอกาสที่กรุงเทพมหานครมีอายุครบ 100 ปี ซึ่งตรงกับวันที่  21 เมษายน 2425 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทางขบวนพยุหยาตรามาวางศิลาก่อพระฤกษ์อาคารศาลสถิตย์ยุติธรรม และทรงโปรดฯ  ให้จารึกพระราชปรารภในการจัดตั้งศาลยุติธรรมไว้ในแผ่นเงิน ซึ่งเรียกว่า"หิรัญบัตร" มีความกว้าง 9.5 ซ.ม. ยาว 37.2 ซ.ม. จำนวน 4 แผ่น ฝังอยู่ใต้อาคารศาลสถิตย์ ยุติธรรมบนแผ่นเงินจารึกด้วยอักษรไทยที่สวยงามและทรงคุณค่ามาก แสดงให้เห็นถึง พระบรมราโชบายในการปกครองแผ่นดินว่ามีพระราชประสงค์ให้ตั้งศาลขึ้นเพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดอรรถคดี ทรงเล็งเห็นว่าบ้านเมืองจะอยู่ด้วยความสงบสุขร่มเย็นต้องอาศัยการศาลเป็นสำคัญจึงทรงจัดระบบกฎหมายและระเบียบทางการศาลขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของชาติตะวันตก โดยมีกรมหลวงพิชิตปรีชากรและพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นกำลังสำคัญในการแก้ไขกฎหมายและปฏิรูประบบการศาลยุติธรรมให้เจริญรุ่งเรืองเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประะเทศ ศาลจึงเป็นสถาบันที่ประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมให้แก่ประชาชนสืบมาตราบเท่าทุกวันนี้ และในโอกาสที่กรุงเทพมหานครครบรอบ 220 ปี ซึ่งตรงกับศาลยุติธรรมครบรอบ120 ปี ในปี พ.ศ. 2545สำนักงานศาลยุติธรรมจึงร่วมกันจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ศาลไทยและหอจดหมายเหตุขึ้นเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ที่มีต่อศาลยุติธรรม จึงถือเอาวันที่ 21 เมษายนของทุกปีเป็น "วันศาลยุติธรรม"

ศาลยุติธรรมมี 3 ชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เว้นแต่ที่มีบัญญัติเป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญหรือตามกฎหมายอื่น
ศาลชั้นต้น ได้แก่ ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี ศาลจังหวัด ศาลแขวง และศาลยุติธรรมอื่นที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดให้เป็นศาลชั้นต้น เช่น ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย
ศาลอุทธรณ์ ได้แก่ ศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค
ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลยุติธรรมสูงสุ ที่มีอยู่เพียงศาลเดียว

7.รัฐบาลไทย(คณะรัฐมนตรี)

รัฐบาลไทย (คณะรัฐมนตรี)

นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลของประเทศไทย โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้ว่า ต้องได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงจะขึ้นดำรงตำแหน่งได้ และอาจเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ก็ได้ ตามแต่รัฐธรรมนูญที่มีผลบังคับใช้อยู่ในขณะนั้น

ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยคนแรก คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และคนปัจจุบัน คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551 หลังจากได้รับการเลือกในสภาด้วยคะแนน 235 ต่อ 198 (พลตำรวจเอกประชา พรหมนอก) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551
ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น บัญญัติให้มีขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยเรียกว่า ประธานคณะกรรมการราษฎร ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 และภายหลังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ตำแหน่งดังกล่าวจึงได้เปลี่ยนเป็น นายกรัฐมนตรี
การดำรงตำแหน่ง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้ว่าเมื่อได้รับการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้วต้องได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงจะขึ้นดำรงตำแหน่งได้ และอาจเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ก็ได้ ตามแต่รัฐธรรมนูญที่มีผลบังคับใช้อยู่ในขณะนั้น

นายกรัฐมนตรีส่วนใหญ่มักจะเป็นตัวแทนหรือหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร แม้รัฐธรรมนูญจะมิได้บัญญัติไว้เช่นนั้นก็ตาม

ธงประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทย ตามพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522นายกรัฐมนตรีจะมีวาระการทำงานทั้งสิ้น 4 ปี และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 8 ปีมิได้

นายกรัฐมนตรีสามารถพ้นจากตำแหน่งได้จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยจะต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด มีสิทธิเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ญัตตินี้ต้องเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปไว้ด้วย เมื่อได้มีการเสนอญัตติแล้วจะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้นายกรัฐมนตรีหลีกหนีการอภิปราย เว้นแต่จะมีการถอนญัตติหรือการลงมตินั้นไม่ได้เสียงครบ หากสมาชิกรัฐสภาลงมติไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมีผลให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งด้วย

สถานที่ปฏิบัติงานและบ้านพัก
นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย (ยกเว้น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ซึ่งปฏิบัติงานที่อาคารสำนักงาน และอาคารรับรองพิเศษ ท่าอากาศยานดอนเมือง) จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ภายในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นสถานที่ราชการสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 1 ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 27 ไร่ 3 งาน 44 ตารางวา

สำหรับบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย คือบ้านพิษณุโลก ซึ่งมีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม ออกแบบและสร้างโดย มาริโอ ตามานโญ สถาปนิกประจำราชสำนักสยามชาวอิตาลี มีเนื้อที่ 25 ไร่ 3 งาน

รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ที่จะปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ในเวลาที่นายกรัฐมนตรีมีเหตุทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือมีหน้าที่อื่นให้ปฏิบัติ เช่น เดินทางไปประชุมที่ต่างประเทศ ลาราชการ พ้นจากตำแหน่ง เป็นต้น

6.รัฐสภาไทย

            รัฐสภาแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นสถาบันที่พระมหากษัตริย์ไทยพระราชทานอำนาจให้เป็นผู้ออกกฎหมายสำหรับการปกครองและการบริหารประเทศ ซึ่งเรียกว่า อำนาจนิติบัญญัติ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติให้รัฐสภา ประกอบด้วย วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะประชุมร่วมกัน หรือแยกกัน ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา เป็นรองประธานรัฐสภา โดยตำแหน่ง

ประวัติรัฐสภาไทย

              รัฐสภาของประเทศไทยกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแรก เมื่อผู้แทนราษฎรจำนวน 70 คนซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ได้เปิดประชุมสภาขึ้นเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมและเมื่อการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรทั่วประเทศได้สำเร็จลง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้พระราชทานพระที่นั่งอนันตสมาคมองค์นี้แก่ผู้แทนราษฎรเพื่อใช้เป็นที่ประชุมสืบต่อมา
ต่อมา เมื่อจำนวนสมาชิกรัฐสภาต้องเพิ่มมากขึ้นตามอัตราส่วนของจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องจัดสร้างอาคารรัฐสภาที่มีขนาดใหญ่กว่า เพื่อให้มีที่ประชุมเพียงพอกับจำนวนสมาชิก และมีที่ให้ข้าราชการสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาใช้เป็นที่ทำงาน จึงได้มีการวางแผนการจัดสร้างอาคารรัฐสภาขึ้นใหม่ถึง 4 ครั้งด้วยกัน แต่ก็ต้องระงับไปถึง 3 ครั้ง เพราะคณะรัฐมนตรีผู้ดำริต้องพ้นจากตำแหน่งไปเสียก่อน
           ในครั้งที่ 4 แผนการจัดสร้างรัฐสภาใหม่ได้ประสบผลสำเร็จ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงยืนยันพระราชประสงค์เดิมที่จะให้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมและบริเวณ เป็นที่ทำการของรัฐสภาต่อไป และยังได้พระราชทานที่ดินบริเวณทิศเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม ให้เป็นที่จัดสร้างสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาขึ้นใหม่ด้วย
สถานที่ทำการใหม่ของรัฐสภา เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน  พ.ศ. 2513 โดยมีกำหนดสร้างเสร็จภายใน 850 วัน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 51,027,360 บาท ประกอบด้วยอาคารหลัก 3 หลัง คือ

  • หลังที่ 1 เป็นตึก 3 ชั้นใช้เป็นที่ประชุมวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และการประชุมร่วมกันของสภาทั้งสอง ส่วนอื่นๆ เป็นที่ทำการของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ประธาน และรองประธานของสภาทั้งสอง
  • หลังที่ 2 เป็นตึก 7 ชั้น ใช้เป็นสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาและโรงพิมพ์รัฐสภา
  • หลังที่ 3 เป็นตึก 2 ชั้นใช้เป็นสโมสรรัฐสภา
สถานที่ทำการใหม่ของรัฐสภา ใช้ในการประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2517สำหรับพระที่นั่งอนันตสมาคม ถือเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และใช้เป็นที่รับรองอาคันตุกะบุคคลสำคัญ ใช้เป็นสถานที่ประกอบรัฐพิธีเปิดสมัยประชุม รัฐพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ และมีโครงการใช้ชั้นล่างของพระที่นั่งเป็นจัดสร้างพิพิธภัณฑ์รัฐสภา

ประธานรัฐสภาไทย

จนถึงปัจจุบัน รัฐสภาไทย มีผู้ดำรงตำแหน่ง ประธานรัฐสภา รวม 28 คน ดังนี้
  • 1. เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร
    • 28 มิถุนายน - 1 กันยายน 2475
    • 15 ธันวาคม 2475 - 26 กุมภาพันธ์ 2476
  • 2. เจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร
    • 2 กันยายน 2475 - 10 ธันวาคม 2476
  • 3. พลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี (พลเรือตรี กระแส ประวาหะนาวิน)
    • ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร
      • 26 กุมภาพันธ์ 2476 - 22 กันยายน 2477
      • 6 กรกฎาคม 2486 -24 มิถุนายน 2487
    • ประธานรัฐสภา และประธานพฤฒสภา
      • 31 สิงหาคม 2489 - 9 พฤษภาคม 2490
      • 15 พฤษภาคม 2490 - 8 พฤศจิกายน 2490
  • 4. เจ้าพระยาศรีธรรมมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา)
    • ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร
      • 22 กันยายน 2477 - 15 ธันวาคม 2477
      • 17 ธันวาคม 2477 - 31 กรกฎาคม 2478
      • 7 สิงหาคม 2478 - 31 กรกฎาคม 2479
    • ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา
      • 26 พฤศจิกายน 2490 - 18 กุมภาพันธ์ 2491
      • 20 กุมภาพันธ์ 2491 - 14 มิถุนายน 2492
      • 15 มิถุยายน 2492 - 20 พศจิกายน 2493
      • 22 พฤศจิกายน 2493 - 29 พฤศจิกายน 2494
  • 5. พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร
    • 3 สิงหาคม 2479 - 10 ธันวาคม 2480
    • 10 ธันวาคม 2480 -24 มิถุนายน 2481
    • 28 มิถุยายน 2481 - 10 ธันวามคม 2481
    • 12 ธันวาคม 2481 - 24 มิถุนายน 2482
    • 28 มิถุนายน 2482 - 24 มิถุนายน 2483
    • 1 กรกฎาคม 2483 - 24 มิถุนายน 2484
    • 1 กรกฎาคม 2484 - 24 มิถุนายน 2485
    • 30 มิถุนายน 2485 - 24 มิถุนายน 2586
    • 2 กรกฎาคม 2487 - 24 มิถุนายน 2488
    • 29 มิถุนายน 2488 - 15 ตุลาคม 2488
    • 26 มกราคม 2489 - 9 พฤษภาคม 2489
  • 6. พันตรีวิลาศ โอสถานนท์ ประธานรัฐสภา และประธานพฤฒสภา
    • 4 มิถุนายน 2489 - 24 สิงหาคม 2489
  • 7. พลเอก พระประจนปัจนึก (พุก มหาดิลก) ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร
    • 1 ธันวาคม 2494 - 17 มีนาคม 2495
    • 22 มีนาคม 2495 - 23 มิถุนายน 2495
    • 28 มิถุนายน 2495 -23 มิถุนายน 2496
    • 2 กรกฎาคม 2496 - 23 มิถุนายน 2497
    • 29 มิถุนายน 2497 - 23 มิถุนายน 2498
    • 2 กรกกาคม 2498 - 23 มิถุนายน 2499
    • 30 มิถุนายน 2499 - 25 กุมภาพันธ์ 2500
    • 16 มีนาคม 2500 - 23 มิถุนายน 2500
    • 28 มิถุนายน 2500 - 16 กันยายน 2500
    • 27 ธันวาคม 2500 - 23 มิถุนายน 2501
    • 25 มิถุนายน 2501 - 20 ตุลาคม 2501
  • 8. พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร (สุทธิ์ สุทธิสารรณกร)
    • ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร
      • 20 กันยายน 2500 - 14 ธันวาคม 2500
    • ประธานรัฐสภา ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ
      • 6 กุมภาพันธ์ 2502 - 17 เมษายน 2511
  • 9. นายทวี บุณยเกตุ ประธานรัฐสภา และประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ
    • 8 พฤษภาคม2511 -20 มิถุนายน 2511
  • 10. พันเอก นายวรการบัญชา (บุญเกิด สุตันตานนท์) ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา
    • 22 กรกฎาคม 2511 - 6 กรกฎาคม 2514
    • 7 กรกฎาคม 2514 - 17 พฤศจิกายน 2514
  • 11. พลตรีศิริ สิริโยธิน ประธานรัฐสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
    • 18 ธันวามคม 2515 - 11 ธันวาคม 2516
  • 12. พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ประธานรัฐสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
    • 29 ธันวาคม 2516 -7 ตุลาคม 2517
  • 13. นายประภาศน์ อวยชัย ประธานรัฐสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
    • 17 ตุลาคม 2517 - 25 มกราคม 2518
  • 14. นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร
    • 7 กุมภาพันธ์ 2518 -12 มกราคม 2519
  • 15. นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร
    • 19 เมษายน 2519 - 6 ตุลาคม 2519
    • 6 กุมภาพันธ์ 2544 - 5 มกราคม 2548
  • 16. พลอากาศเอก กมล เดชะตุงคะ ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ประธานสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินและประธานรัฐสภา
    • 22 ตุลาคม 2519 - 20 พฤศจิกายน 2519
  • 17. พลอากาศเอก หะริน หุงสกุล
    • ประธานรัฐสภา และประธานสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
      • 28 พฤศจิกายน 2519 - 20 ตุลาคม 2520
    • ประธานรัฐสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
      • 25 พฤศจิกายน 2520 - 22 เมษายน 2522
    • ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา
      • 9 พฤษภาคม 2522 - 19 มีนาคม 2526
  • 18. นายจารุบุตร เรืองสุวรรณ ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา
    • 26 เมษายน 2526 - 19 มีนาคม 2527
  • 19. ศาสตราจารย์อุกฤษ มงคลนาวิน
    • ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา
      • 30 เมษายน 2527 - 30 เมษายน 2528
      • 1 พฤษภาคม 2528 - 23 เมษายน 2530
      • 24 เมษายน 2530 - 22 เมษายน 2532
      • 3 เมษายน 2335 - 26 พฤษภาคม 2535
    • ประธานรัฐสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
      • 2 เมษายน 2534 - 21 มีนาคม 2535
  • 20. ร้อยตำรวจตรี วรรณ ชันซื่อ ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา
    • 4 พฤษภาคม 2532 - 23 กุมภาพันธ์ 2534
  • 21. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา
    • 28 มิถุนายน 2535 - 29 มิถุนายน 2535
  • 22. ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร
    • 22 กันยายน 2535 - 19 พฤษภาคม 2538
  • 23. นายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร
    • 11 กรกฎาคม 2538 27 กันยายน 2538
  • 24. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร
    • 24 พฤศจิกายน 2539 - 27 มิถุนายน 2543
  • 25. นายพิชัย รัตตกุล ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร
    • 30 มิถุนายน 2543 - 9 พฤศจิกายน 2543
  • 26. นายโภคิน พลกุล ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร
    • 8 มีนาคม 2548 - 24 กุมภาพันธ์ 2549
  • 27. นายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร
    • 23 มกราคม 2551 - เมษายน 2551
  • 28. นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร
    • 15 พฤษภาคม 2551 - 10 พฤษภาคม 2554
  • 29. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร
    • 3 สิงหาคม 2554 - ปัจจุบัน

5.ประวัติการ กบฎ ปฏิวัติและการรัฐประหารในประเทศไทย

 ประวัติการ กบฎ ปฏิวัติและการรัฐประหารในประเทศไทย


การทำรัฐประหาร คือการใช้กำลังอำนาจเข้าเปลี่ยนแปลงอำนาจของรัฐ โดยมาก หากรัฐประหารครั้งนั้นสำเร็จ จะเรียกว่า 'ปฏิวัติ' แต่หากไม่สำเร็จ จะเรียกว่า 'กบฏ'จาก พ.ศ. 2475 - พ.ศ. 2534 มีการก่อรัฐประหารหลายครั้ง ทั้งที่เป็น การปฏิวัติ และเป็น กบฏ มีดังนี้

พ.ศ. เหตุการณ์ หัวหน้าก่อการ รัฐบาล

2475 ปฏิวัติ 24 มิถุนายน พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ
2476 รัฐประหาร พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
2476 กบฎบวรเดช พล.อ.พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
2478 กบฎนายสิบ ส.อ.สวัสดิ์ มหะหมัด พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
2481 กบฎพระยาสุรเดช พ.อ.พระยาสุรเดช พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
2490 รัฐประหาร พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
2491 กบฎแบ่งแยกดินแดน ส.ส.อีสานกลุ่มหนึ่ง นายควง อภัยวงศ์
2491 รัฐประหาร คณะนายทหารบก นายควง อภัยวงศ์
2491 กบฏเสนาธิการ พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2492 กบฎวังหลวง นายปรีดี พนมยงค์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2494 กบฎแมนฮัตตัน น.อ.อานน บุณฑริกธาดา จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2494 รัฐประหาร จอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2497 กบฎสันติภาพ นายกุหราบ สายประสิทธิ์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2500 รัฐประหาร จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2501 รัฐประหาร จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพล ถนอม กิตติขจร
2514 รัฐประหาร จอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพล ถนอม กิตติขจร
2516 ปฏิวัติ 14 ตุลาคม ประชาชน จอมพล ถนอม กิตติขจร
2519 รัฐประหาร พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
2520 กบฎ 26 มีนาคม พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
2520 รัฐประหาร พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
2524 กบฎ 1 เมษายน พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
2528 การก่อความไม่สงบ 9 กันยายน พ.อ.มนูญ รูปขจร * พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
2534 รัฐประหาร พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

* คณะบุคคลกลุ่มนี้ อ้างว่า พลเอก เสริม ณ นคร อดีตผู้บัญชาทหารสูงสุดเป็นหัวหน้า แต่หัวหน้าก่อการจริงคือ พ.อ. มนูญ รูปขจร

ประวัติการปฏิวัติรัฐประหารและกบฎ ในประเทศไทย (2475 - 2534)
การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475
" คณะราษฎร " ซึ่งประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนบางกลุ่ม จำนวน 99 นาย มีพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้าคณะ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่7 เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศสืบต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ ให้แก่ปวงชนชาวไทยอยู่ก่อนแล้ว จึงทรงยินยอมตามคำร้องขอของคณะราษฎร ที่ทำการปฏิวัติในครั้งนั้น

รัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พร้อมด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนคณะหนึ่ง ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศอีกครั้งหนึ่ง เพื่อขอให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออกจากตำแหน่งซึ่งเป็นการริดรอนอำนาจภายในคณะราษฏร ที่มีการแตกแยกกันเอง
ในส่วนของการใช้อำนาจ ต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ใช้อำนาจในทางที่ละเมิดต่อกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมและประเทศชาติ เช่น ให้มีศาลคดีการเมือง ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการรัฐสภา สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่มีอิสระอย่างเต็มที่ การประกาศทรัพย์สินของนักการเมืองทุกคนทุกตำแหน่ง การออกกฎหมายผลประโยชน์ขัดกัน ฯลฯ

กบฏบวชเดช 11 ตุลาคม 2476
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าฝ่ายทหารจากหัวเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ก่อการเพื่อล้มล้างอำนาจของรัฐบาล โดยอ้างว่าคณะราษฎรปกครองประเทศไทยโดยกุมอำนาจไว้แต่เพียงแต่เพียงผู้เดียว และปล่อยให้บุคคลกระทำการหมิ่นองค์พระประมุขของชาติ รวมทั้งจะดำเนินการปกครองโดยลัทธิคอมมิวนิสต์ ตามแนวทางของนายปรีดี พนมยงค์ คณะผู้ก่อการได้ยกกำลังเข้ายึดดอนเมืองเอาไว้ ฝ่ายรัฐบาลได้แต่งตั้ง พ.ท.หลวง พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการกองกำลังผสม ออกไปปราบปรามจนประสบผลสำเร็จ

กบฏนายสิบ 3 สิงหาคม 2478ทหารชั้นประทวนในกองพันต่างๆ ซึ่งมีสิบเอกสวัสดิ์ มหะมัด เป็นหัวหน้า ได้ร่วมกันก่อการเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยจะสังหารนายทหารในกองทัพบก และจับพระยาพหลพลพยุหเสนาฯ และหลวงพิบูลสงครามไว้เป็นประกัน รัฐบาลสามารถจับกุมผู้คิดก่อการเอาไว้ได้ หัวหน้าฝ่ายกบฏถูกประหารชีวิต โดยการตัดสินของศาลพิเศษในระยะต่อมา

กบฏพระยาทรงสุรเดช 29 มกราคม 2481
ได้มีการจับกุมบุคคลผู้คิดล้มล้างรัฐบาล เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้กลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดังเดิม นายพันเอกพระยาทรงสุรเดชถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้าผู้ก่อการ และได้ให้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ต่อมารัฐบาลได้จัดตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณา และได้ตัดสินประหารชีวิตหลายคน ผู้มีโทษถึงประหารชีวิตบางคน เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร นายพลโทพระยาเทพหัสดิน นายพันเอกหลวงชานาญยุทธศิลป์ ได้รับการลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต เนื่องจากศาลเห็นว่าเป็นผู้ได้ทำคุณงามความดีให้แก่ประเทศชาติมาก่อน

รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490
คณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมี พลโทผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้าสำคัญ ได้เข้ายึดอำนาจรัฐบาล ซึ่งมีพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ แล้วมอบให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลต่อไป ขณะเดียวกัน ได้แต่งตั้ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย

กบฏแบ่งแยกดินแดน 28 กุมภาพันธ์ 2491

จะมีการจับกุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายคน เช่น นายทิม ภูมิพัฒน์ นายถวิล อุดล นายเตียง ศิริขันธ์ นายฟอง สิทธิธรรม โดยกล่าวหาว่าร่วมกันดำเนินการฝึกอาวุธ เพื่อแบ่งแยกดินแดนภาคอีสานออกจากประเทศไทย แต่รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการจับกุมได้ เนื่องจากสมาชิกผู้แทนราษฏรมีเอกสิทธิทางการเมือง

รัฐประหาร 6 เมษายน 2491
คณะนายทหารซึ่งทำรัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 บังคับให้นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วมอบให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้าดำรงตำแหน่งต่อไป

กบฏเสนาธิการ 1 ตุลาคม 2491

พลตรีสมบูรณ์ ศรานุชิต และพลตรีเนตร เขมะโยธิน เป็นหัวหน้าคณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง วางแผนที่จะเข้ายึดอำนาจการปกครอง และปรับปรุงกองทัพจากความเสื่อมโทรม และได้ให้ทหารเข้าเล่นการเมืองต่อไป แต่รัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ทราบแผนการ และจะกุมผู้คิดกบฏได้สำเร็จ

กบฏวังหลวง 26 มิถุนายน 2492

นายปรีดี พนมยงค์ กับคณะนายทหารเรือ และพลเรือนกลุ่มหนึ่ง ได้นำกำลังเข้ายึดพระบรมมหาราชวัง และตั้งเป็นกองบัญชาการ ประกาศถอดถอน รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และนายทหารผู้ใหญ่หลายนาย พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยกาปราบปราม มีการสู้รบกันในพระนครอย่างรุนแรง รัฐบาลสามารถปราบฝ่ายก่อการกบฏได้สำเร็จ นายปรีดี พนมยงค์ ต้องหลบหนออกนอกประเทศอีกครั้งหนึ่ง

กบฏแมนฮัตตัน 29 มิถุนายน 2494

นาวาตรีมนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือรบหลวงสุโขทัยใช้ปืนจี้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปกักขังไว้ในเรือรบศรีอยุธยา นาวาเอกอานน บุญฑริกธาดา หัวหน้าผู้ก่อการได้สั่งให้หน่วยทหารเรือมุ่งเข้าสู่พระนครเพื่อยึดอำนาจ และประกาศตั้งพระยาสารสาสน์ประพันธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เกิดการสู้รบกันระหว่างทหารเรือ กับทหารอากาศ จอมพล ป. พิบูลสงคราม สามารถหลบหนีออกมาได้ และฝ่ายรัฐบาลได้ปรามปรามฝ่ายกบฏจนเป็นผลสำเร็จ

รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน 2494

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจตนเอง เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ ต้องใช้วิธีการให้ตำแหน่งและผลประโยชน์ต่างๆ แก่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนอยู่เสมอ ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 ซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้น มีวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยมากเกินไป จึงได้ล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเสีย พร้อมกับนำเอารัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม 2475 มาใช้อีกครั้งหนึ่ง

กบฏสันติภาพ 8 พฤศจิกายน 2497นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) และคณะถูกจับในข้อหากบฏ โดยรัฐบาลซึ่งขณะนั้นมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เห็นว่าการรวมตัวกันเรี่ยไรเงิน และข้าวของไปแจกจ่ายแก่ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งขณะนั้นกำลังประสบกับความเดือดร้อน เนื่องจากความแห้งแล้งอย่างหนัก เป็นการดำเนินการที่เป็นภัยต่อรัฐบาล นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ กับคณะถูกศาลตัดสินจำคุก 5 ปี

รัฐประหาร 16 กันยายน 2500
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าคณะนายทหารนำกำลังเข้ายึดอำนาจของรัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังจากเกิดการเลือกตั้งสกปรก และรัฐบาลได้รับการคัดค้านจากประชาชนอย่างหนัก จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ต้องหลบหนีออกไปนอกประเทศ

รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501
เป็นการปฏิวัติเงียบอีกครั้งหนึ่ง โดยจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้น ลากออกจากตำแหน่ง ในขณะเดียวกันจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ได้ประกาศยึดอำนาจการปกครองประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากเกิดการขัดแย้งในพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล และมีการเรียกร้องผลประโยชน์หรือตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง เป็นเครื่องตอบแทนกันมาก คณะปฏิวัติได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง และให้สภาผู้แทน และคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง

รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514
จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทำการปฏิวัติตัวเอง ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขึ้นทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และให้ร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในระยะเวลา 3 ปี

ปฏิวัติโดยประชาชน 14 ตุลาคม 2516

การเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญของนิสิตนักศึกษา และประชาชนกลุ่มหนึ่งได้แผ่ขยายกลายเป็นพลังประชาชนจำนวนมาก จนเกิดการปะทะสู้รบกันระหว่างรัฐบาลกับประชาชน เป็นผลให้จอมพลถนอม กิตติขจร นายักรัฐมนตรี จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ

ปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน 6 ตุลาคม 2519

พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ และคณะนายทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ เนื่องจากเกิดการจลาจล และรัฐบาลพลเรือนในขณะนั้นยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยทันที คณะปฏิวัติได้ประกาศให้มีการปฏิวัติการปกครอง และมอบให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520

พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะนายทหารเข้ายึดอำนาจของรัฐบาล ซึ่งมีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐบาลได้รับความไม่พอใจจากประชาชน และสถานการณ์จะก่อให้เกิดการแตกแยกระหว่างข้าราชการมากยิ่งขึ้น ประกอบกับเห็นว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในการปฏิรูปการปกครอง ซึ่งมีระยะเวลาถึง 12 ปีนั้นนานเกินไป สมควรให้มีการเลือกตั้งขึ้นโดยเร็ว

กบฎ 26 มีนาคม 2520

พลเอกฉลาด หิรัญศิริ และนายทหารกลุ่มหนึ่ง ได้นำกำลังทหารจากกองพลที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี เข้ายึดสถานที่สำคัญ 4 แห่ง คือ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบกสวนรื่นฤดี กองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารสูงสุดส่วนหน้า สนามเสือป่า และกรมประชาสัมพันธ์ ฝ่ายทหารของรัฐบาลพลเรือน ภายใต้การนำของ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลอากาศเอกกมล เดชะตุงคะ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และพลเอกเสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบก ได้ปราบปรามฝ่ายกบฏเป็นผลสำเร็จ พลเอกฉลาด หิรัญศิริ ถูกประหารชีวิตตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2520

กบฎ 1 เมษายน 2524พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา ด้วยความสนับสนุนของคณะนายทหารหนุ่มโดยการนำของพันเอกมนูญ รูปขจร และพันเอกประจักษ์ สว่างจิตร ได้พยายามใช้กำลังทหารในบังคับบัญชาเข้ายึดอำนาจปกครองประเทศ ซึ่งมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความแตกแยกในกองทัพบก แต่การปฏิวัติล้มเหลว ฝ่ายกบฏยอมจำนนและถูกควบคุมตัว พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา สามารถหลบหนีออกไปนอกประเทศได้ ต่อมารัฐบาลได้ออกกฏหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องการกบฏในครั้งนี้

การก่อความไม่สงบ 9 กันยายน 2528

พันเอกมนูญ รูปขจร นายทหารนอกประจำการ ได้นำกำลังทหาร และรถถังจาก ม.พัน 4 ซึ่งเคยอยู่ใต้บังคับบัญชา และกำลังทหารอากาศโยธินบางส่วน ภายใต้การนำของนาวาอากาศโทมนัส รูปขจร เข้ายึดกองบัญชาการทหารสูงสุด และประกาศให้ พลเอกเสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองของประเทศ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในขณะที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี และพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก อยู่ในระหว่างการไปราชการต่างประเทศ กำลังทหารฝ่ายรัฐบาลโดยการนำของพลเอกเทียนชัย สิริสัมพันธ์ รองผู้บัญชากรทหารสูงสุด ได้รวมตัวกันต่อต้านและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ในเวลาต่อมา พันเอกมนูญ รูปขจร และนาวาอากาศโทมนัส รูปขจร หลบหนีออกนอกประเทศ การก่อความไม่สงบในครั้งนี้มีอดีตนายทหารผู้ใหญ่หลายคน ตกเป็นผู้ต้องหาว่ามีส่วนร่วมอยู่ด้วย ได้แก่ พลเอกเสริม ณ นคร พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พลอากาศเอกพะเนียง กานตรัตน์ พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา และพลอากาศเอกอรุณ พร้อมเทพ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด

รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534
โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติซึ่งประกอบด้วย ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ เจ้าหน้าที่-ตำรวจ และพลเรือน ภายใต้การนำของพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก พลเรือเอกประพัฒน์ กฤษณ-จันทร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พลอากาศเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ พลตำรวจเอกสวัสดิ์ อมร-วิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และพลเอกอสิระพงศ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก เลขาธิการคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจากพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี

4.การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

        การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475        
          การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 (หรือเรียกว่าเป็น รัฐประหาร หรือ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง) เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งมีผลทำให้ราชอาณาจักรสยามเปลี่ยนรูปแบบประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และเปลี่ยนรูปแบบการปกครองไปเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เกิดขึ้นจากคณะนายทหารและพลเรือนที่ประกอบกันขึ้นเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกของสยาม ที่เรียกตัวเองว่า "คณะราษฎร" โดยเป็นผลพวงมาจากการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์โลก ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองภายในประเทศ การปฏิวัติดังกล่าวยังทำให้ประชาชนชาวสยามได้รับรัฐธรรมนูญฉบับแรกอีกด้วย
         พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยในหลายด้าน แต่การปฏิรูปรัฐธรรมนูญกลับเป็นไปอย่างเชื่องช้าซึ่งสร้างความไม่พอใจในหมู่พวกหัวก้าวหน้าและพวกหัวรุนแรง ในปี พ.ศ. 2454 ได้เกิดกบฏ ร.ศ. 130 ซึ่งดำเนินการโดยคณะนายทหารหนุ่ม แต่ล้มเหลว เป้าหมายของคณะคือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองและล้มล้างระบอบเก่าและแทนที่ด้วยระบบรัฐธรรมนูญตะวันตกที่ทันสมัย และอาจต้องการเปลี่ยนพระมหากษัตริย์ด้วยพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นด้วย   การปฏิวัติดังกล่าวล้มเหลวและผู้ก่อการถูกจำคุก นับแต่นั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงละเลิกความพยายามส่วนใหญ่ในการปฏิรูปรัฐธรรมนูญและทรงปกครองประเทศต่อไปภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช โดยมีข้อยกเว้นบ้างที่โปรดฯ แต่งตั้งสามัญชนบางคนสู่สภาองคมนตรีและรัฐบาล
ต่อมา สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ทรงสืบราชสมบัติสืบต่อจากพระเชษฐาเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระองค์ทรงสืบช่วงปกครองประเทศในวิกฤตการณ์ พระเชษฐาของพระองค์ทรงได้ทำให้สถานะของประเทศเกือบจะล้มละลาย เพราะทรงมักจะใช้เงินจากกองคลังมาปกปิดการขาดดุลของท้องพระคลังข้างที่ และข้อเท็จจริงยังมีว่ารัฐและประชาชนถูกบังคับให้จ่ายเงินแก่พระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ซึ่งมีวิถีชีวิตอันหรูหราฟุ่มเฟือย พระองค์ได้ทรงรีบจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้นเป็นองค์กรหลักในการปกครองรัฐ เพื่อพยายามแก้ไขปัญหาที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้กลายเป็นว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เห็นอกเห็นใจ โดยทรงตัดรายจ่ายในพระราชวังและเสด็จพระราชดำเนินทั่วประเทศอย่างกว้างขวาง และเมื่อเสด็จกลับมายังพระนคร พระองค์ทรงทำให้เป็นที่ยอมรับและโดดเด่นแก่หมู่ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางในกรุงเทพมหานครซึ่งเติบโตขึ้นกว่าแต่ก่อนโดยทรงประกอบพระราชกรณียกิจสาธารณะหลายอย่าง จนถึงเวลานี้ นักเรียนหลายคนที่ถูกส่งไปศึกษา ณ ต่างประเทศเมื่อหลายทศวรรษก่อนได้เริ่มเดินทางกลับประเทศแล้ว แต่นักเรียนเหล่านี้กลับขาดโอกาส การตั้งมั่นโดยพระบรมวงศานุวงศ์และความล้าหลังของประเทศ ซึ่งที่สุดแล้วได้กลายมาขจัดภาพลวงตาของสถานะเดิมมากที่สุด
          อย่างไรก็ตาม เมื่อถึง พ.ศ. 2473 สถานการณ์โลกได้ทวีความเลวร้ายลงเกินกว่าที่ประเทศจะสามารถรับไหวเมื่อตลาดหุ้นวอลล์สตรีทล่มและความล่มสลายทางเศรษฐกิจส่งผลกระทบมาถึงสยาม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสนอให้จัดเก็บภาษีรายได้ทั่วไปและภาษีอสังหาริมทรัพย์เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของคนยากจน แต่นโยบายดังกล่าวถูกปฏิเสธอย่างรุนแรงจากสภา ซึ่งสภาได้เปลี่ยนไปลดค่าตอบแทนของข้าราชการพลเรือนและลดงบประมาณด้านการทหารแทน ทำให้ชนชั้นสูงในประเทศส่วนใหญ่และโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายทหารโกรธมาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงยอมรับว่าพระองค์ทรงขาดพระราชกรณียกิจด้านการคลังอย่างเปิดเผย พยายามต่อสู้กับพระบรมวงศานุวงศ์ที่อาวุโสกว่าในประเด็นดังกล่าว แต่ก็สำเร็จเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
พระองค์ได้ทรงเปลี่ยนพระราชปณิธานไปเป็นการร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จะนำประชาธิปไตยเข้าสู่สยาม ด้วยความช่วยเหลือจากพระบรมวงศานุวงศ์อีกสองพระองค์และที่ปรึกษานโยบายต่างประเทศชาวอเมริกัน เรย์มอนด์ บาร์ทเล็ตต์ สตีเฟนส์  ถึงแม้ว่าจะได้รับการกราบทูลทัดทานว่าประชาชนสยามยังไม่พร้อม แต่พระองค์ยังทรงมุ่งมั่นที่จะมอบรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนก่อนงานเฉลิมฉลองครบรอบ 150 ปีราชวงศ์จักรี ในปี พ.ศ. 2475 อย่างไรก็ตาม เอกสารดังกล่าวได้ถูกปฏิเสธโดยพระบรมวงศานุวงศ์ในอภิรัฐมนตรีสภา
เมื่อสิ้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จออกจากกรุงเทพมหานครในช่วงเสด็จแปรพระราชฐานฤดูร้อน โดยทรงมอบหมายให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยพระองค์ทรงเสด็จไปยังพระตำหนักฤดูร้อน ซึ่งถูกเรียกว่า "วังไกลกังวล" ที่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
อาจกล่าวได้ว่า "กบฏ ร.ศ. 130" เป็นแรงขับดันให้คณะราษฎร ก่อการปฏิบัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยภายหลังการยึดอำนาจแล้ว พระยาพหลพลพยุหเสนาได้เชิญผู้นำการกบฏ ร.ศ. 130 ไปพบและกล่าวกับ ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ว่า "ถ้าไม่มีคณะคุณ ก็เห็นจะไม่มีคณะผม" และหลวงประดิษฐ์มนูธรรมก็ได้กล่าวในโอกาสเดียวกันว่า "พวกผมถือว่าการปฏิวัติครั้งนี้เป็นการกระทำต่อเนื่องจากการกระทำเมื่อ ร.ศ. 130"
เหตุการณ์วันที่ 23-24 มิถุนายน
ถึงแม้ว่าจะมีการระมัดระวังล่วงหน้าและการเตรียมการไว้ทั้งหมดแล้วก็ตาม ข่าวของแผนการดังกล่าวก็ยังได้รั่วไหลไปถึงตำรวจ ในช่วงเย็นของวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อธิบดีตำรวจได้โทรศัพท์ถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต โดยกราบทูลขออำนาจในการจับกุมและจำคุกทุกคนที่เกี่ยวข้องกับแผนการดังกล่าว  พระองค์ดำริว่าผู้ก่อการหลายคนเป็นผู้มีอิทธิพลและมีอำนาจมาก จึงทรงตัดสินพระทัยเลื่อนพระบรมราชโองการออกไปเป็นวันรุ่งขึ้น การเลื่อนคำสั่งนี้จะมีความสำคัญอย่างมากต่อผู้ก่อการทั้งหลาย
ในช่วงเย็นวันเดียวกัน หนึ่งในกลุ่มผู้สนับสนุนของหลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) ในกองทัพเรือได้เกณฑ์เรือปืนจากอู่เรือขึ้นมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา และเมื่อถึงตอนเช้าก็ได้เล็งปืนเรือตรงเข้าใส่พระราชวังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตในกรุงเทพมหานคร ตัวเขาเองนั้นได้เกณฑ์กะลาสีเรือติดอาวุธ 500 นายพร้อมที่จะยึดพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งตั้งอยู่ ณ ใจกลางพระนครและเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิต หลังจากนั้น ประยูร ภมรมนตรี ผู้มีอำนาจสั่งการนายทหารเสนาธิการหนุ่มและได้สั่งยึดที่ทำการไปรษณีย์และโทรเลขรอบพระนคร โดยในบรรดานายทหารเหล่านี้มีควง อภัยวงศ์รวมอยู่ด้วย การสื่อสารทั้งหมดระหว่างพระบรมวงศานุวงศ์และสมาชิกฝ่ายบริหารอาวุโสจึงถูกตัดขาด
 บ้านพักทั้งหมดยังได้อยู่ภายใต้การตรวจตราและเฝ้าระวังโดยสมาชิกคณะราษฎรทั้งพลเรือนและทหาร

เมื่อถึงเวลาประมาณ 4.00 น. ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 24 มิถุนายน พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ได้ดำเนินการตามแผนการในส่วนของตนเรียบร้อยแล้ว พระยาพหลพลพยุหเสนาและผู้สนับสนุนบางส่วนได้รวมตัวกันใกล้กับพระที่นั่งและรอคอยสัญญาณขั้นต่อไป ขณะที่พระยาทรงสุรเดชเดินทางไปกับผู้สมคบคิดจำนวนหนึ่งไปยังค่ายทหารของกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นที่เก็บยานยนต์หุ้มเกราะส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานคร เมื่อมาถึง พระยาทรงสุรเดชได้กล่าวตำหนินายทหารผู้รับผิดชอบค่ายที่กำลังหลับอยู่ขณะที่มีการลุกฮือของชาวจีนเกิดขึ้นในพระนคร ทั้งหมดเกิดขึ้นขณะกำลังเปิดประตูค่ายทหารและมีการระดมทหารทั้งหมด อุบายดังกล่าวเป็นผล และแม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางความสับสนและความโกลาหล พระยาประศาสน์พิทยายุทธสามารถจับกุมผู้บัญชาการกรมทหารได้และนำตัวไปคุมขัง หลวงพิบูลสงครามได้รับคำสั่งให้เฝ้านักโทษ
ยานยนต์หุ้มเกราะ รวมไปถึงรถถังจำนวนหนึ่ง ถูกเกณฑ์และทั้งหมดได้รับคำสั่งให้มุ่งหน้าไปยังพระที่นั่ง พระยาฤทธิ์อัคเณย์ หลังจากทราบข่าวความสำเร็จของพระยาทรงสุรเดช ได้เดินทางไปยังค่ายทหารของกรมทหารราบที่ 1 และหลังจากเรียกระดมเหล่าทหารราบได้สำเร็จแล้ว ก็ได้มุ่งหน้าไปยังพระที่นั่งด้วยเช่นกัน
 ทหารในพื้นที่ใกล้เคียงกรุงเทพมหานครได้เข้าร่วมกับผู้ก่อการด้วยเช่นกัน เนื่องจากได้รับคำสั่งหลายสัปดาห์ก่อนหน้านั้นแล้วว่ากำลังจะมีการฝึกซ้อมทางทหารเกิดขึ้น และไม่ทราบเลยว่าพวกตนจะเข้าไปมีส่วนในการปฏิวัติทหารหน่วยอื่นที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ตัดสินใจที่จะไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ใด ๆ โดยการเก็บตัวอยู่ในกรมกองเมื่อทหารราบและทหารม้ามาถึงลานพระราชวังดุสิตหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมเมื่อเวลาราว 6.00 น. ก็ได้มีกลุ่มประชาชนเนืองแน่นเฝ้าดูทหารที่มาชุมนุมนั้น  ความสับสนเกิดขึ้นท่ามกลางผู้ที่มาชุมนุมนั้น หลายคนไม่เชื่อทั้งหมดว่ามีการลุกฮือของชาวจีนเกิดขึ้นจริง หรือว่าทหารมาชุมนุมที่จัตุรัสนี้เพื่อการฝึกซ้อมเท่านั้น พระยาพหลพลพยุหเสนาปีนขึ้นไปบนยอดรถถังคนหนึ่งและอ่านประกาศคณะราษฎร ซึ่งเป็นแถลงการณ์ประกาศถึงจุดจบของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชและการสถาปนารัฐอันมีรัฐธรรมนูญขึ้นในสยาม ผู้ก่อการเปล่งเสียงด้วยความยินดี ตามมาด้วยเหล่าทหาร ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะเป็นการคล้อยตามมากกว่าความเข้าใจในสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด
แท้ที่จริงแล้ว พระยาพหลพลพยุหเสนาเพียงแต่ขู่ขวัญเท่านั้น ความสำเร็จของการปฏิวัติยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่อื่นของกรุงเทพมหานคร พระยาประศาสน์พิทยายุทธถูกสั่งไปยังบ้านพักของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และสมาชิกระดับสูงคนอื่น ๆ ในรัฐบาลและพระบรมวงศานุวงศ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตขณะกำลังทรงฉลองพระองค์บรรทมเมื่อพระองค์ทรงถูกจับกุม ไม่มีผู้ใด ยกเว้นผู้บัญชาการเหล่าทหารบกที่หนึ่ง ต่อสู้ขัดขืนแม้เพียงเล็กน้อย มีการสู้กันเกิดขึ้นและนายทหารคนดังกล่าวได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย แต่สุดท้ายก็ถูกนำตัวไปคุมขัง และกลายมาเป็นบุคคลเพียงคนเดียวที่ได้รับบาดเจ็บอันเป็นผลมาจากการปฏิวัติ หากนับทั้งหมดแล้ว มีเจ้าหน้าที่ทางการเกือบ 40 คนถูกจับกุมและถูกกักขังไว้ในพระที่นั่งอนันตสมาคม เว้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และการสื่อสาร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ผู้ซึ่งได้ทรงหลบหนีไปทางหัวรถจักรเพื่อไปกราบบังคบทูลเตือนพระมหากษัตริย์ที่หัวหิน  เมื่อถึงเวลา 8.00 น. ปฏิบัติการยึดอำนาจได้เสร็จสิ้นและผู้ก่อการประสบความสำเร็จ
เจ้าหน้าที่รัฐทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนส่วนใหญ่ต่อสู้ขัดขืนเพียงเล็กน้อย เพราะพวกเขาคุ้นชินกับการรับคำสั่งและสายการสื่อสารถูกตัดขาด พวกเขาจึงไม่สามารถทำอะไรได้ ขั้นต่อไปของการปฏิวัติเหลือเพียงแต่สายพลเรือนของคณะราษฎร ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ด้วยความช่วยเหลือจากผู้สนับสนุน ได้แจกจ่ายใบปลิวและแผ่นพับโฆษณาชวนเชื่อ ตลอดจนการกระจายเสียงทางวิทยุซึ่งทั้งหมดสนับสนุนการปฏิวัติทั้งสิ้น   ข้อความในประกาศคณะราษฎรซึ่งเขียนขึ้นโดยปรีดีวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำที่รุนแรง
อารมณ์ของประกาศคณะราษฎรแตกต่างกันมากกับอารมณ์ของโทรเลขที่ถูกส่งไปให้แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งลงนามโดยพันเอกและทหารเสือทั้งสามนาย ได้แก่ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช และพระยาฤทธิ์อัคเณย์ โทรเลขนี้ใช้ราชาศัพท์มีใจความว่า หากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงปรารถนาที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ คณะราษฎรจะเต็มใจถอดพระองค์ออกและแทนที่ด้วยพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น  แต่ถึงแม้ว่าจะใช้ราชาศัพท์ก็ตาม โทรเลขดังกล่าวย้ำพระองค์ด้วยถ้อยคำแข็งกร้าวว่าหากสมาชิกคณะราษฎรคนใดได้รับบาดเจ็บ พระบรมวงศานุวงศ์ที่ถูกคุมขังก็จะทรงทรมานไปด้วย
ปฏิกิริยาในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
แม้ก่อนหน้าที่โทรเลขของเหล่าทหารเสือจะมาถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ก็ทรงทราบล่วงหน้าแล้วว่ามีเหตุการณ์บางอย่างกำลังเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร พระองค์กำลังทรงกีฬากอล์ฟอยู่ที่พระราชวังฤดูร้อนพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี รัฐมนตรีที่เป็นเจ้านายสองพระองค์ และข้าราชบริพารจำนวนหนึ่ง เมื่อข้อความด่วนมาถึง (กล่าวกันว่าพระองค์กำลังทรงเล่นอยู่ที่หลุมที่แปด) ภายหลัง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินทรงมาถึงเพื่อกราบรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพระนคร
พระองค์กับเจ้านายอีกสองพระองค์ทรงปรึกษากันถึงทางเลือกหลายทาง ซึ่งรวมไปถึงการเสด็จลี้ภัยไปยังต่างประเทศ การจัดรัฐประหารซ้อนหรือการยอมจำนนเต็มตัวอย่างไรก็ตาม เมื่อโทรเลขแท้จริงจากคณะราษฎรมาถึงแล้ว พระองค์ก็ทรงตัดสินพระทัยแล้วเช่นกัน พระองค์ได้ทรงตอบอย่างรวดเร็วว่าพระองค์เต็มพระทัยที่จะอยู่ในราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญดังที่พระองค์ทรงสนับสนุนที่จะให้ประชาชนมีรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเขียนถึงการตัดสินพระทัยของพระองค์ที่ปฏิเสธจะต่อสู้ในภายหลังว่า "... ข้าพเจ้าไม่สามารถนั่งอยู่บนบัลลังก์ที่เปื้อนเลือดได้" จุดหนึ่งที่พระองค์ทรงไม่ยอมรับคือเมื่อคณะราษฎรส่งเรือปืนมาเพื่อนำตัวพระองค์ไปยังกรุงเทพมหานคร พระองค์ทรงปฏิเสธและเสด็จกลับไปยังพระนครโดยรถไฟหลวง อันแสดงให้เห็นว่าพระองค์มิได้ตกเป็นเชลยของคณะราษฎรขณะเดียวกัน ผู้ก่อการได้บีบบังคับให้เจ้านายลงพระนามในเอกสารประกาศพันธกรณีเพื่อให้เกิดสันติภาพและหลีกเลี่ยงการหลั่งเลือดใด ๆ ในกรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกับรัฐประหารอีกหลายครั้งที่จะเกิดขึ้นในเวลาต่อมา ที่ประชาชนแทบจะไม่มีท่าทีตอบสนองต่อรัฐประหารครั้งนี้เลย และชีวิตประจำวันของประชาชนได้กลับคืนสู่สภาพปกติก่อนที่จะจบวันที่ 24 มิถุนายนเสียอีก ส่วนที่เหลือของประเทศก็ไม่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ทำให้หนังสือพิมพ์เดอะไทมส์ในลอนดอนรายงานว่าการปฏิวัติดังกว่าเป็นเพียง "การปรับปรุงใหม่เล็กน้อย" เท่านั้น

3.เหตุการณ์กบฎ ร.ศ 130 (กบฎเหล็ง ศรีจันทร์)



     เหตุการณ์กบฎ ร.ศ 130 (กบฎเหล็ง ศรีจันทร์)





          ในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากพระองค์ขึ้นครองราชย์ได้ราวปีเศษ ทางการสืบทราบว่ามีคณะนายทหารและพลเรือนกลุ่มหนึ่งจัดตั้งสมาคม "อานาคิช" (Anarchist) มีสมาชิกประมาณ ๘๐๐ - ๑,๐๐๐ คน มีจุดมุ่งหมายวางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครองลดพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ลงมาอยู่ภายใต้กฎหมายเหมือนพระมหากษัตริย์อังกฤษหรือพระมหาจักรพรรดิญี่ปุ่น
ทางการจึงเข้าจับกุมตัวการสำคัญในการคบคิดวางแผนการในตอนเช้าวันศุกร์ที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ (ร.ศ. ๑๓๐)
ผู้ถูกจับกุมชุดแรกคือ นายร้อยเอกขุนทวยหารพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ผู้บังคับกองพยาบาลโรงเรียนทหารบก ถูกจับที่โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม, นายร้อยโทจรูญ ณ บางช้าง สังกัดกรมพระธรรมนูญทหารบก ถูกจับที่บ้านถนนสุรศักดิ์ และนายร้อยตรีเจือ ศิลาอาศน์ สังกัดกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๒ ถูกจับที่กรมเสนาธิการทหารบก
การจับกุมตัวทหารผู้ก่อการกำเริบครั้งนี้ทำการหลายระลอก เฉพาะในวันแรกคือวันที่ ๑ มีนาคม จับกุมตัวนายทหารบกที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีที่ค้นพบจากบ้านขุนทวยหารพิทักษ์ ๕๘ คน เมื่อจับกุมมาได้ก็ให้มีการเขียนคำชี้แจงแบบซัดทอด ทำให้มีการขยายวงการสืบสวนออกไป และภายใน ๒ วัน ทางการก็จับกุมตัวผู้ต้องหาซัดทอดกันไปมาได้กว่าร้อยคน ส่วนผู้ต้องสงสัยแต่ยังไม่มีหลักฐานจับกุมเพียงพอก็ได้แต่งคนสะกดรอยเพื่อหาหลักฐานมัดตัวต่อไป เพราะหากหลักฐานไม่แน่นพอแล้วไปจับกุม สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงศ์ภูวนาถ ทรงเกรงว่า จะทำให้ผู้คนแตกตื่นตกใจไปมาก


สมาชิกผู้เริ่มก่อการ

จากการสอบสวนของคณะกรรมการสรุปผลการสอบสวนและพิจารณาคดีซึ่งได้กราบบังคมทูลต่อองค์พระประมุขเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๓๑ (พ.ศ. ๒๔๕๕) มีความโดยย่อดังต่อไปนี้
คณะกลุ่มทหารบก นายทหารเรือ และบุคคลพลเรือนได้สมคบคิดกันเปลี่ยนแปลงการปกครองบ้านเมือง โดยเริ่มประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔ ตามศักราชเก่า) และประชุมต่อมาอีก ๗ ครั้งรวมเป็น ๘ ครั้งตามสถานที่ดังต่อไปนี้
สองครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม และ ๒๑ มกราคม ร.ศ. ๑๓๐ ที่บ้านนายร้อยเอกขุนทวยหารพิทักษ์ ตำบลสาทร
ครั้งที่ ๓ วันที่ ๒๘ มกราคม ร.ศ. ๑๓๐ ที่โบสถ์ร้างวัดช่องลม ช่องนนทรี
ครั้งที่ ๔ วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๓๐ ที่ทุ่งนาห่างจากสถานีรถไฟคลองเตย ประมาณ ๖๐๐ เมตร
ครั้งที่ ๕ วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๓๐ ที่สวนผักของพระสุรทัณฑ์พิทักษ์ บิดาของนายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุทธยา ที่ตำบลศาลาแดง
ส่วนอีกสามครั้งหลัง คือวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์, วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ และวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๓๐ ประชุมที่อนุกูลคดีกิจสถาน แถววังบูรพาภิรมย์ ซึ่งเป็นสถานที่ว่าความของนายร้อยโทจรูญ ณ บางช้าง สำนักงานอนุกูลคดีกิจสถานใช้เป็นที่สมาชิกพบปะกันและเป็นสถานที่รับสมาชิกใหม่ด้วย
การประชุมครั้งแรกที่บ้านนายร้อยเอกขุนทวยหารพิทักษ์นั้น เป็นเสมือนหนึ่งสมาชิกผู้เริ่มก่อการมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น ๙ คน คือ
นายร้อยเอกขุนทวยหารพิทักษ์ สังกัดกรมแพทย์ทหารบก อายุ ๓๐ ปี
นายร้อยตรีเหรียญ ศรีจันทร์ สังกัดกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ อายุ ๒๐ ปี
ว่าที่นายร้อยตรีสิริ ชุณห์ประไพ สังกัดกรมทหารราบที่ ๑๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ อายุ ๒๒ ปี
นายร้อยตรี ม.ร.ว. แช่ รัชนิกร สังกัดกองโรงเรียนนายสิบ กองพลที่ ๑ รักษาพระองค์ อายุ ๒๒ ปี
ว่าที่นายร้อยตรีเขียน อุทัยกุล สังกัดกองโรงเรียนนายสิบ กองพลที่ ๑ รักษาพระองค์ อายุ ๒๕ ปี
นายร้อยตรีปลั่ง บูรณะโชติ สังกัดกองปืนกลที่ ๑ อายุ ๒๒ ปี
นายร้อยตรีสอน วงษ์โต สังกัดกองปืนกลที่ ๑ อายุ ๒๓ ปี
นายร้อยตรีจรูญ ษะตะเมษ สังกัดกองปืนกลที่ ๑ อายุ ๒๖ ปี